การเลือกโรงเรียนให้ลูก


เรื่องการเลือกโรงเรียนให้ลูกเป็นปัญหาสำหรับหลายครอบครัว เพราะมันเลือกยากมาก โรงเรียนมีเยอะ มีหลายแนวทาง หลายแบบ ก็ไม่รู้ว่าจะเลือกแบบไหนให้ลูกสุดที่รักของเราดี ส่วนมากแล้วก็มักจะใช้ประสบการณ์ของพ่อแม่เอง และจากการรับฟังคนอื่นบอกมาว่าที่นั่นที่นี่ดียังงั้นอย่างงี้ ผมอยากจะบอกว่า การเลือกเรียนโรงเรียนที่ดีก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ได้เป็นทั้งหมดที่จะกำหนดอนาคตของเขา หรือกำหนดว่าเขาจะโตมาเป็นยังไง โรงเรียนเป็นส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น

ตัวผมเองตั้งแต่เด็กมาก็ย้ายมาแล้วหลายโรงเรียน อนุบาลประจำอำเภอ โรงเรียนประถมเล็กๆประจำอำเภอ โรงเรียนมัธยมชื่อดังของจังหวัด อาชีวะ และไปจบที่มหาวิทยาลัยแบบเปิดที่กรุงเทพ และตอนนี้เป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ มีพนักงาน 4-5 คน ใช้ชีวิตได้สบายไม่เดือดร้อนอะไร มีความสุขกับชีวิตตามแบบคนชั้นกลาง และก็คิดเยอะเรื่องที่เรียนของลูกเหมือนกัน

ผมย้ายโรงเรียนให้ลูกมา 4 โรงเรียน (เฉพาะชั้นเตรียมอนุบาล!!) คือ ไปมาหมดที่เขาว่าที่ไหนดี ซึ่งมันก็คงจะดีจริงๆ แต่คำถามสำคัญคือว่า
1. มันเหมาะกับพฤติกรรม/นิสัยของลูกเราไหม
2. ลูกเรามีความสุขกับการได้ไปโรงเรียนหรือไม่
3. มันเหมาะสมกับครอบครัวเราไหม ทั้งเรื่องการเดินทางและค่าใช้จ่าย
4. แนวทางการศึกษาเป็นอย่างไร

มาว่ากันทีละข้อเลยนะครับ
1. มันเหมาะกับพฤติกรรม/นิสัยของลูกเราไหม - โดยไม่ต้องสงสัยเลยว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่มีใครเหมือนกัน เป็นความคิดที่ผิดมากที่เราอยากให้ลูกเราเป็นเหมือนลูกคนอื่น ทำได้เหมือนลูกคนอื่น การเปรียบเทียบแบบนี้ไม่มีผลดีอะไร มีแต่จะกดดันเด็กและตัวพ่อแม่เองเปล่าๆ สู้เราทำความเข้าใจลูกของเราและคอยช่วยเหลือ สนับสนุนในทางที่เขาถนัดจะดีกว่า โลกนี้คงจะตลกมากๆถ้าทุกคนเป็นหมอหรือวิศวะกันหมด ไม่มีใครเป็นนักดนตรี ศิลปิน ขายอาหาร เลี้ยงปลา ทำธุรกิจและอื่นๆนับร้อยพัน โลกนี้มันดำเนินไปได้เพราะความหลากหลายเหล่านี้มิใช่หรือ

ถ้าลูกเราชอบเรียน ชอบทำการบ้าน ก็เหมาะที่จะส่งเขาไปเรียนในที่เคร่งครัดเรื่องวิชาการ ถ้าเขาชอบเล่น ชอบวาด ชอบธรรมชาติ เราก็ควรส่งไปโรงเรียนที่เน้นกิจกรรมมากกว่าวิชาการ


2. ลูกเรามีความสุขกับการได้ไปโรงเรียนหรือไม่ - ข้อนี้สำคัญ เด็กก็คือเด็ก ความสุขของเขาคือการเล่น การได้เล่นตามธรรมชาติจำเป็นสำหรับเด็ก การยัดวิชาการเขาหัวตั้งแต่เด็กถึงแม้ว่าเขาจะเก่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าโตขึ้นเขาจะมีความสุข สังคมเราเน้นให้คุณค่าของคนแบบผิดเพี้ยน คือไปยกย่องคนเก่ง คนรวย คนมีตำแหน่งมีอำนาจ แทนที่จะมองว่าเขาทำอะไรเพื่อสังคม เพื่อผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน มันไม่มีประโยชน์เลยที่ลูกเราจะเรียนเก่งเหมือนลูกคนอื่น แต่เขาไม่มีความสุข ไม่อยากไปโรงเรียน แน่นอนว่าลูกไม่มีความสุขย่อมส่งผลให้พ่อแม่ไม่มีความสุขด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คิดดูให้ดีว่า เราเลี้ยงลูกคนอยู่ ไม่ใช่ลูกซุปเปอร์แมน

3. มันเหมาะสมกับครอบครัวเราไหม ทั้งเรื่องการเดินทางและค่าใช้จ่าย - อย่าใช้จ่ายเกินตัว มีกำลังแค่ไหนก็เอาแค่นั้น มันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไรหรอกกับการเรียนในโรงเรียนปกติ ไม่จำเป็นที่ลูกเราต้องเรียนที่แพงที่สุด ที่เขาว่าดีที่สุด เพื่อจะได้เข้าสังคมชั้นสูงกับลูกคนรวย บางทีพ่อแม่คิดถึงหน้าตาของตัวเองมากกว่าลูกเสียด้วยซ้ำ เลือกเอาโรงเรียนที่มีค่าเทอมเหมาะสม ถามดูให้แน่ใจว่ารวมค่าใช้จ่ายอื่นๆแล้วหรือยัง แล้วเอามาคำนวณดูว่าเราไหวมั้ย ถ้าไม่ไหวก็มองหาที่อื่นที่ถูกกว่า และอย่าลืมเรื่องการเดินทางด้วย ถ้ามันไกลบ้านมากก็ต้องพิจารณาด้วย เพราะลูกและเราจะต้องตื่นเช้ามากๆ ไหนจะกินข้าว อาบน้ำ แต่งตัว รถติด ขับรถไปกลับ ค่าน้ำมันแต่ละเดือนก็ควรต้องนำมาบวกลบด้วย ลูกคือส่วนเติมเต็มของชีวิต และทุกคนในครอบครัวควรจะมีความสุข ไม่ใช่มีความทุกข์

4. แนวทางการศึกษาเป็นอย่างไร - อันนี้มีให้เลือกหลายแนวมาก เด็กๆเขาเลือกไม่เป็นหรอกครับ สิ่งที่คุณพ่อแม่ควรทำ คือ ลงทุนหาความรู้ด้วยตัวเอง ว่าแต่ละแนวทางเป็นอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร แล้วเอามาดูว่าแนวทางไหนเหมาะกับลูกของเราและแนวของครอบครัวเรามากที่สุด

ใดๆในโลกล้วนมีข้อดีและข้อเสียนะครับ การเลือกอย่างหนึ่งหมายความว่าคุณต้องเสียอีกอย่างไป ไม่มีสิ่งใดที่สมบูรณ์แบบ เราคาดหวังกับลูกได้แต่ต้องเหมาะสมและเข้าใจธรรมชาติของเขา ไม่ควรสร้างความกดดัน หรือบังคับเด็กให้ทำหรือเป็นอย่างที่เราต้องการ ถ้าเราอยากให้ลูกเป็นอย่างไร เราก็ควรเป็นแบบอย่างให้เขา เพราะสำหรับเด็กแล้ว พ่อแม่คือฮีโร่ตัวจริงเลยล่ะครับ
5 itong2go: January 2012 เรื่องการเลือกโรงเรียนให้ลูกเป็นปัญหาสำหรับหลายครอบครัว เพราะมันเลือกยากมาก โรงเรียนมีเยอะ มีหลายแนวทาง หลายแบบ ก็ไม่รู้ว่าจะเลือกแบบไหนใ...

Facebook Comments

Recommended Post

เฮียโก บรรยายให้น้องๆมช.ฟังเรื่องการเริ่มต้นธุรกิจทำ content ออนไลน์

 บรรยายผ่าน zoom ครับ ก็จะแห้งๆนิดนึงแต่ก็ได้เนื้อหาอีกแบบนึงอยู่นะ เปิดฟังเองอีกรอบนึงก็สนุกดี พูดตะกุกตะกักไปหน่อย